การล้างแผล (Wound Irrigation หรือ Wound Cleansing) ช่วยชะล้างเชื้อแบคทีเรีย สิ่งปนเปื้อน และสิ่งสกปรกอื่นๆ ออกจากแผล เป็นการขจัดสิ่งรบกวนการสมานแผล และลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อ (Infection) การติดเชื้อจะรบกวนการสมานแผล และทำให้แผลหายช้า(1,2)
น้ำยาล้างแผล
น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9% w/v) เป็นน้ำยาล้างแผลที่ดีที่สุด เพราะเป็นสารละลาย Isotonic มีความเข้มข้นสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย ไม่ทำลายเซลล์สร้างใหม่ที่แผล(2,3) ไม่ทำให้แผลแสบหรือระคายเคือง
เปรียบเทียบ น้ำเกลือปราศจากเชื้อกับ…
“น้ำประปา”
น้ำ เป็นสารละลาย Hypotonic มีความเข้มข้นไม่สมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย ทำลายเซลล์เม็ดเลือด และเซลล์เนื้อเยื่อสร้างใหม่ รบกวนการสมานแผล ทำให้แผลแสบ ระคายเคือง(4)
บทความในวารสารวิชาการหลายฉบับ ศึกษาการล้างแผล โดยใช้น้ำประปา เปรียบเทียบกับน้ำเกลือปราศจากเชื้อ แต่บทความเหล่านั้น ทำการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีระบบน้ำประปาสะอาด ดื่มได้ จึงไม่เหมาะกับประเทศที่ระบบน้ำประปายังไม่สะอาดเพียงพอ(2)
“แอลกอฮอล์”
แอลกอฮอล์ (Rubbing Alcohol หรือ 70% Alcohol) เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ ใช้เช็ดผิวหนังรอบแผล เช็ดผิวหนังก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยา เพื่อลดโอกาสที่เชื้อรอบปากแผลจะเข้าสู่แผล ไม่ควรใช้ล้างแผลเปิด เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดเนื้อตาย แผลหายช้า ทำให้แผลแสบร้อน ระคายเคือง(5)
“ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์”
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) เป็นยาล้างแผลที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเฉพาะที่อ่อนๆ ใช้ล้างบาดแผลเล็กๆ แต่มีความเป็นพิษ (Cytotoxic) รบกวนการสมานแผล ทำให้แผลแสบ และระคายเคือง จึงควรใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น(6,7)
ข้อดีของการล้างแผลด้วย
น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9% w/v)
- ไม่แสบแผล
น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9% w/v) เป็นสารละลาย Isotonic มีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย ช่วยรักษาสภาพของเซลล์เนื้อเยื่อ และเซลล์เม็ดเลือด ไม่ระคายเคืองแผล และไม่ทำให้แสบแผล - ปราศจากเชื้อ
น้ำเกลือปราศจากเชื้อ ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง ด้วยกระบวนการ Autoclave จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากเชื้อ (Sterile) ช่วยลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อ เมื่อใช้ล้างแผล - ปราศจากสารไพโรเจน
สารไพโรเจน (Pyrogen) หรือสารก่อไข้ ส่วนใหญ่เป็น Bacterial Endotoxins ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว เมื่อสารไพโรเจนเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการไข้ (Fever) หนาวสั่น (Chill) น้ำเกลือปราศจากเชื้อ ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ปราศจากสารไพโรเจน จึงใช้ล้างบาดแผลลึกได้อย่างปลอดภัย - ไม่ใส่วัตถุกันเสีย
น้ำเกลือปราศจากเชื้อ ไม่ใส่วัตถุกันเสีย (Bacteriostatics หรือ Preservatives) ไม่ระคายเคืองแผล และสามารถใช้ได้ในผู้ที่แพ้วัตถุกันเสีย
ชนิดของบาดแผล (Wound)
- แผลบาดเจ็บ (Traumatic wounds)(1)
เช่น แผลถูกบาด แผลฉีกขาด แผลถลอก แผลถูกแทง แผลฉีกกระชาก และแผลตัดขาด - แผลผ่าตัด (Surgical wounds)
เช่น แผลเจาะช่องท้อง CAPD (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) แผลผ่าตัดในโพรงจมูก แผลคลอดบุตร - แผลเปื่อย (Ulcerations)
เช่น แผลกดทับ แผลจากโรคหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตัน แผลเรื้อรังจากเบาหวาน - แผลไหม้ (Burn wounds)
เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การล้างแผลช่วยหยุดอาการไหม้ (Burn) ที่แผล
References
1. Pollak AN, Ed. “Soft-Tissue Injury.” Nancy Caroline’s Emergency Care in the Streets. Massachusetts: Jones and Bartlett Publishers, 2008. 19.9-19.11.
2. Mulder M, et al. “Basic Wound Care.” Basic Principles of Wound Care. South Africa: Pearson Education, 2002. 145-150.
3. Sweetman SC, et al. Eds. “Sodium Chloride.” Martindale: The Complete Drug Reference, 36th ed. London: Pharmaceutical Press, 2009. 1686-1687.
4. McEvoy GK, et al. Eds. “Electronic-only Monographs: Irrigating Solutions.” AHFS Drug Information. Maryland: American Society of Health-System Pharmacists, 2009.
5. Sweetman SC, et al. Eds. “Alcohol.” Martindale: The Complete Drug Reference, 36th ed. London: Pharmaceutical Press, 2009. 1625-1627.
6. Sweetman SC, et al. Eds. “Hydrogen Peroxide.” Martindale: The Complete Drug Reference, 36th ed. London: Pharmaceutical Press, 2009. 1647-1648.
7. McEvoy GK, et al. Eds. “Hydrogen Peroxide.” AHFS Drug Information. Maryland: American Society of Health-System Pharmacists, 2009. 2924-2925.